ความเชยที่ควรอนุรักษ์
ผมนั่งอยู่ที่โต๊ะทำงานซึ่งเต็มไปด้วยกองเอกสาร
ใกล้ๆ กันมีที่ใส่ปากกา และไม้บรรทัดเก่าๆ ที่ทำจากไม้อันหนึ่ง ซึ่งมีรอยแตกร้าว และมีคราบสกปรก ซึ่งควรจะทิ้งถังขยะได้แล้ว...
ท่ามกลางความเงียบสงบ ผมได้ทบทวนความหลังของตนเองในเส้นทางการเป็นครูมากว่า 30 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ได้ผ่านพบเรื่องราวต่างๆ มากมาย ได้รับบทเรียนและประสบการณ์ทั้งดีและไม่ดี และสิ่งที่ยึดมั่นมาโดยตลอดคือ “ความซื่อสัตย์”
ผมมองไปที่ไม้บรรทัดเก่าๆ อันนั้น ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ในโลกนี้จะมีใครบ้างที่ซื่อตรงได้ตลอดเวลา โดยไม่เคยเปลี่ยนแปลง?”...
สภาพการณ์เปลี่ยนคนได้ แต่คนเปลี่ยนสภาพการณ์ไม่ได้ โลกเปลี่ยนแปลง คนเปลี่ยนตาม
มีสัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่า ทุกคนย่อมเห็นแก่ตัว ทำเพื่อตนเองก่อนเป็นอย่างแรก ในสังคมปัจจุบันคนทำเพื่อประโยชน์ของตัวเองมากจนเกินไป จึงมองข้ามความถูกต้อง จริงอยู่ที่ทุกคนต้องรักตัวเองก่อน แต่ก็ต้องไม่เบียดเบียนผู้อื่น และควรเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมบ้าง
ความซื่อสัตย์ และความดีนั้น กลับกลายเป็น “ความเชย” การเอารัดเอาเปรียบ การใช้เล่ห์เหลี่ยมกลอุบายกลับกลายเป็นความเฉลียวฉลาด ที่ใครหลายคนอยากกระทำตาม
สุภาษิตที่ว่า “ซื่อกินไม่หมด...คดกินไม่นาน” ปัจจุบันกลับกลายเป็น “ซื่อถูกกินหมด...คดอยู่ได้นาน”
สังคมที่มีความซื่อตรง ความจริงใจ และความเกรงกลัวต่อบาปหายไปไหน? คนคดโกงนั้นกลับถูกชื่นชม มีคนนับหน้าถือตา และอยู่ในสังคมอย่างสง่างาม ทำไมคนเรายังสนับสนุนคนที่คดโกง ทั้งที่รู้ว่าคนๆ นั้นไม่มีความซื่อสัตย์?…
จงใช้ชีวิตโดยยึดมั่นในความซื่อสัตย์ ไม่เอารัดเอาเปรียบ ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ถ้าสังคมขาดความซื่อสัตย์และความจริงใจให้แก่กัน สังคมคงจะไม่สงบสุขและร่มเย็นอย่างแน่นอน
ผมเก็บไม้บรรทัดอันนั้นไว้ใช้ต่อไป ถึงแม้มันจะเก่าและเชยแค่ไหน ก็ควรเก็บรักษาไว้...
เขียนโดย ช้าง งาชมพู , สิงหาคม 2002 / ปรับปรุงโดย ธีร์ ชัยกรณ์ , เมษายน 2010